ประวัติคณะอุร์สุลินในประเทศไทย

ในปี ค.ศ. 1923 พระสังฆราชแปร์รอส ประมุขสังฆมณฑลสยาม ได้มีหนังสือถึงพระสังฆราชแฟรรี่ สมณมนตรีกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อศรัทธา แสดงความประสงค์จะได้คณะซิสเตอร์มาเป็นกำลังเสริมเผยแพร่ศาสนา

พระสังฆราชแฟรรี่ ซึ่งเพิ่งขอซิสเตอร์อุร์สุลิน 3 คนจากแคนาดา ไปวางรากฐานที่ซัวเถา ประเทศจีน จึงส่งจดหมายนั้นต่อไปให้คุณแม่อธิการิณีวินิฟริด และจดหมายดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังคุณแม่อธิการิณีมารี ดู โรแซร์ ที่ซัวเถา คุณแม่ดู โรแซร์อ่านจดหมายของพระสังฆราชแฟรรี่อย่างละเอียด และได้เริ่มติดต่อกับพระสังฆราชแปร์รอสโดยตรง

พระสังฆราชแปร์รอส เสนอให้คณะอุร์สุลินเริ่มงานที่โรงเรียนของสังฆมณฑล ซึ่งมีการสอนด้วยภาษาจีนและไทยไปก่อน โดยจะ มีครูไทยช่วยสอนเด็กนักเรียนระหว่างที่ซิสเตอร์ต้องเรียนภาษาไทย และแจ้งว่าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จากนั้นคุณแม่ดู โรแซร์ และพระสังฆราชได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะใหญ่อุร์สุลินที่กรุงโรม ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบตกลงในทันที คุณแม่จึงมีจดหมายไปอีก พร้อมเสนอชื่อซิสเตอร์มารี แบร์นาร์ด มังแซล ชาวฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นประจำอยู่ที่ชวา เป็นผู้รับผิดชอบคณะที่จะไปสยาม เนื่องจากเป็นผู้ที่เคยติดต่อและพอทราบอัธยาศัยกันอยู่บ้าง

หลายเดือนผ่านไป ในที่สุด คุณแม่ดู โรแซร์ ก็ได้รับข่าวจากเจ้าคณะใหญ่อุร์สุลิน ที่กรุงโรม ตอบรับคำขอ พร้อมกับเตรียมส่งธรรมทูตมา 4 คน โดยคัดจากอาสาสมัครซึ่งเดิมจะไปเมืองจีน 4 คน จาก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และยูโกสลาเวีย ได้แก่ ซิสเตอร์มารี เทแรส แมร์แตนส์ หัวหน้าคณะ ซิสเตอร์มารี ซาเวียร์ เปียร์ซ ซิสเตอร์มารี ราฟาแอล วูร์นิค และซิสเตอร์มารี อักแนส เดอลัต

พระสังฆราชแปร์รอส
มารี เทแรส แมร์แตนส์/เบลเยี่ยม
มารี ซาเวียร์ เปียร์ซ/ยูโกสลาเวีย
มารี ราฟาแอล วูร์นิค/ยูโกสลาเวีย
มารี อักแนส เดอลัต/ฝรั่งเศส

ทั้ง 4 ท่านออกเดินทางจากเมืองท่ามาร์เซย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1924 โดยไม่รู้เลยว่าสยามอยู่ที่ไหน อากาศ ผู้คน ภาษาเป็นอย่างไร หรือกำลังมีสิ่งใดรออยู่ข้างหน้า

จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ท่านทั้ง 4 ได้เดินทางมาถึงประเทศสยาม พักอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และเริ่มงานที่โรงเรียนกุหลาบวัฒนา วัดกาลหว่าร์ ใกล้กับตลาดน้อย ต้องดูแลเด็กกำพร้า ทำงานวัด และรับผิดชอบในโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนภาษาไทย ปรับตัวเข้ากับอากาศ และยังเจ็บป่วยจากโรคเขตร้อน ช่วงเวลาอันยากยิ่งนี้ยาวนานถึง 2 ปี โดยขาดการสนับสนุนเหลียวแลทั้งจากกรุงเทพฯ และทางโรม

บ้านพักหลังแรกที่วัดกาลหว่าร์

ปี ค.ศ. 1926 มีการประชุมใหญ่คณะอุร์สุลินทั่วโลกที่กรุงโรม พร้อมเลือกตั้งมหาธิการิณี ผู้ได้รับเลือกคือ คุณแม่มารี เดอ แซงต์ ฌอง มาร์แตง ซึ่งท่านได้ตั้งซิสเตอร์มารี แบร์นาร์ด มังแซล จากชวาให้มาเป็น อธิการิณีที่สยาม

คุณแม่แบร์นาร์ด มังแซล ทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ถูกทิ้งไว้จนหนักหน่วงเป็นเวลานาน นับแต่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ เดินทางไปพบทุกคนที่ท่านคิดว่าจะช่วยเหลือได้ ตัดสินใจกู้เงินซื้อที่ดินตามคำแนะนำของพระสังฆราชแปร์รอสเพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีและโรงเรียนประจำ ฯลฯ

ไม่ถึงหนึ่งปี คุณแม่แบร์นาร์ดก็ได้รับคำอนุมัติจากโรม ให้สร้างโรงเรียนอุทิศถวายพระแม่มารีในชื่อ มาแตร์เดอี ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดดำเนินกิจการในปี ค.ศ. 1928 โดยคุณแม่มารี แบร์นาร์ด มังแซล เป็นอธิการิณีท่านแรก ปี ค.ศ. 1932 เปิดโรงเรียนเรยีนาเชลี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี ค.ศ. 1955 เปิดโรงเรียนวาสุเทวี กรุงเทพฯ และปี ค.ศ. 2002 เปิดโรงเรียนปิยมาตย์ ที่จังหวัดพะเยา

โรงเรียนมาแตร์เดอีในอดีต
โรงเรียนวาสุเทวีในอดีต
บ้านหลังแรกที่เรยีนาเชลี
โรงเรียนปิยมาตย์

นอกจากนี้คณะอุร์สุลินยังดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการให้การอบรมศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ โดยกิจการล่าสุดที่ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินได้ดำเนินงานคือ การเปิดบ้านคณะอุร์สุลินที่ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.2010

เรียบเรียงจาก
หนังสือคณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน ปี ค.ศ. 1985
หนังสือที่ระลึก 7 รอบ 84 ปี มาแมร์ทีโอดอร์ ฮาเนนเฟลด์ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2006
หนังสือนักบวชหญิงและชายในประเทศไทย

thThai