ประวัติคณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน (โดยย่อ)

25 พฤศจิกายน 1535 หญิงสาว 28 คนไปร่วมมิสซากับอัญจลา เมริชี ที่วัดนักบุญอัฟรา แคว้นเบรเซีย ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศอิตาลี ในมิสซาวันนั้น แต่ละคนก็คงได้ถวายตัวแด่พระเจ้าเป็นการส่วนตัว โดยรับศีลมหาสนิท ศีลแห่งการเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าและเพื่อน ๆ และแล้วต่างก็กลับไปยังที่พักของอัญจลา ไปจดทะเบียนลงในสมุดเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ด้วยความดื่มด่ำ เป็นสักขีพยานว่า คณะนักบุญอุร์สุลาคือสมาชิกอุร์สุลิน ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

พระวินัยฉบับแรกซึ่งแม่อัญจลาได้บอกคำบอกให้โคสะโนเขียนนั้น มิได้บ่งบอกถึงตำแหน่งแม่มหาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เธอเองดำรงอยู่โดยปริยาย นั่นหมายความว่า บ้านอุร์สุลินย่อมเป็นสหภาพ สองปีต่อมาเมื่อคณะมีการประชุมทั่วไปก็เห็นความจำเป็นเรื่องตำแหน่งมหาธิการิณี สมาชิกพร้อมใจกันเลือก “คุณแม่ ซิสเตอร์อัญจลา” (Madre Zuer Angelz) เป็นมหาธิการิณี ปีต่อ ๆ มาเราพบในรายงานการประชุมของคณะว่า นักบุญอัญจลาเองก็ได้พยายามพัฒนาแบบการปกครองคณะ ซึ่งในการประชุมทุกครั้งได้มีการเอ่ยถึงแม่มหาธิการิณี แม่อัญจลาเองก่อนที่เธอจะสิ้นชีวิตก็ได้เลือกเคานเตส ลูเครเชีย ดิ โลโดรเน (Countess Lucrezia di Lodrone) เป็นผู้รับตำแหน่งแทนเธอ เป็นการเน้นว่าอุร์สุลินทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียวกัน มีมหาธิการิณีและคณะผู้ปกครองเป็นผู้นำ

คณะอุร์สุลินมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ต่อมานักบุญชาลส์ บอเรเมียวก็ได้รวบรวมสมาชิกเข้าเป็นหมวดหมู่ พำนักอยู่ในบ้านหรืออารามของตน แต่ก็ยังเป็นคณะฆราวาสบ้าง นักบวชบ้าง เมื่ออารามหลายอารามเกิดขึ้นในแคว้นต่าง ๆ กระจายไปในฝรั่งเศสมากขึ้น แต่ละแห่งก็เริ่มเป็นเอกเทศ

ปี 1776 ปรากฏว่า มีประวัติของคณะนักบุญอุร์สุลาตีพิมพ์ออกมาที่ปารีส มีอยู่บทหนึ่งที่พิสูจน์ว่า อุร์สุลินฆราวาสก็ดี อุร์สุลินที่อยู่ตามบ้านเป็นกลุ่มหรือโดยไม่มีเขตพรตหวงห้ามก็ดี ก็เป็นลูกสาวของแม่คนเดียวคือ นักบุญอัญจลา เมริชีแห่งแบรเซีย บรรดาซิสเตอร์ตามบ้านและอารามต่าง ๆ เริ่มสนใจในข่าวเกี่ยวกับคณะอุร์สุลิน

ปี 1789 เกิดปฏิวัติในฝรั่งเศส มีการเบียดเบียนทางศาสนา คณะอุร์สุลินถูกกระทบกระเทือนเช่นเดียวกับคณะนักบวชอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะฝ่ายศาสนจักรยังอยู่ในรัฐจักร อารามหลายแห่งถูกยึด นักบวชต้องเปลี่ยนเครื่องแบบเป็นฆราวาสจึงจะสอนในโรงเรียนได้ บางกลุ่มก็ไปตั้งอารามอยู่ในเบลเยี่ยม อังกฤษ อเมริกา ในอิตาลีก็มีการเบียดเบียนเช่นกันอาราม Via Victoria ในกรุงโรมถูกยึดบางส่วน เดือนพฤศจิกายน 1873 อันตรายแสดงความเข้มข้นอธิการบ้านได้รับคำสั่งว่า รัฐบาลได้ออกหมายยึดอารามแล้ว เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปสำรวจสิ่งของในอาราม กำหนดเอาส่วนหนึ่งเป็นวิทยาลัยดนตรี อีกส่วนหนึ่งปล่อยให้นักบวชพำนักเป็นอารามและโรงเรียน รับนักเรียนเข้าไปเรียนภายในเขตพรต หญิงสาวที่ปรารถนาเข้าอารามต้องไปเข้าที่บลัวส์ (Blois) ประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะบลัวส์เป็นอารามที่อรุ์สุลินโรมันรู้จักอยู่แล้ว คุณแม่เซ็นจูเลียน ออเบร (St.Julian Aubry) อธิการ คุณแม่ออเรลี่ซึ่งเป็นผู้ชวย ก็มีหนังสือติดต่อกันอยู่แล้ว ทั้งยังมีการเดินทางไปยังโรมด้วย เมื่อมีความจำเป็น

ในความคิดและความปรารถนาของบรรดาอุร์สุลิน ณ สถานที่ต่าง ๆ มีอยู่ว่า อุร์สุลินลูกสาวของนักบุญอัญจลาควรจะรวมกันเป็นสถาบันที่มีลักษณะเป็นสหภาพ ทั้งนี้ เพราะพระพรพิเศษของนักบุญอัญจลาเป็นอุดมคติของอุร์สุลินทุกบ้าน คือ “ให้งานของเธอมีมูลฐานอยู่ในความรักทวีคูณ (Let all your works have their root in this twofold charity Testament ; First Legacy)” แต่การเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ยังมิได้มีการตกลงกันเป็นทางการ แต่ละบ้านที่สถาปนาขึ้นมาก็เป็นเอกเทศ และพระผู้เป็นเจ้าก็ได้โปรดเรียกหญิงสาวเป็นอันมากสมัครเป็นสมาชิกอุร์สุลิน แต่ละบ้านขึ้นอยู่กับพระสังฆราชประจำสังฆมณฑล แต่พระสังฆราชก็ไม่มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบวินัยที่สำคัญของอุร์สุลิน เพราะคณะมีพระโองการของพระสันตะปาปา (Ponfifical Bulls) เป็นหลักอยู่ พระสังฆราชมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ไม่สำคัญนักเช่นวางระเบียบขนบธรรมเนียมประเพณี จัดตารางเวลาของแต่ละวัน รับรองเครื่องแบบสมาชิก พระสังฆราชเป็นผู้อนุญาตให้รับ หรือปฏิเสธโปสตุลันต์และโนวิส ท่านจะเป็นประธานในการลงคะแนนรับสมาชิกใหม่

เมื่อคุณแม่ St.Julian จากบลัวส์ เป็นผู้ที่ช่วยบรรเทาทุกข์ของบ้านคัลวี (Calvi) และบ้านที่กรุงโรม เป็นต้นเรื่องขาดแคลนสมาชิกที่จะดำเนินงานของคณะ ขาดแคลนการเงินเพื่อดำเนินงานและค่าครองชีพ ปัญหากับรัฐบาลที่ยึดอารามบางแห่ง พระสังฆราชสังฆมณฑลสนับสนุนให้บลัวส์-โรม-คัลวี (Blois-Rome-Calvi) รวมเป็นสหภาพโดยพระคาร์ดินัลสโตลลี (Stolli) เป็นผู้เสนอไปยังพระสันตะปาปา ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ ข่าวนี้กระจายไปถึงอารามอุร์สุลินในฝรั่งเศส มีอยู่แห่งหนึ่งที่เขียนหนังสือไปต่อว่าคุณแม่ St.Julian ว่า ท่านทึกทักเอาตำแหน่งมหาธิการิณี ซึ่งไม่เป็นความจริง พระคาร์ดินัลสโตลลีจึงได้ให้มีการเลือกตั้งคุณแม่ St.Julian อย่างเป็นทางการ พระสังฆราช แห่งบลัวส์ก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่คุณแม่เองก็มิได้ปรารถนาตำแหน่งนี้เลย

เมื่อสหภาพได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว อารามต่าง ๆ ก็คึกคักขึ้น โดยกลุ่มที่ไม่อยากให้คุณแม่ St.Julian เป็นหัวหน้าสหภาพก็เขียนหนังสือไปตามอารามที่ขึ้นกับกลุ่ม ซึ่งก็มีบางอารามที่อยากได้สหภาพ พระคาร์ดินัลสโตลลีจึงตกลงใจแนะนำให้คุณแม่ St.Julian เขียนหนังสือไปยังอารามต่าง ๆ ในฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม เยอรมัน โปแลนด์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ว่า เชิญชวนให้มาประชุมกันที่โรมเป็นสมัชชาเพื่อการตกลงร่วมกันเป็นกลุ่ม บลัวส์-โรม-คัลวี และก่อนจะมาประชุมเสนอให้ขออนุมัติจากพระสังฆราชของสังฆมณฑลเสียก่อน
เป็นของธรรมดาที่พระสังฆราชบางท่านไม่เห็นด้วย ทั้งนี้เพราะเกรงว่าถ้าอารามในสังฆมณฑลไปขึ้นอยู่กับสหภาพแล้ว อารามนั้น ๆ จะไม่สามารถทำอะไร ๆ ที่ท่านขอร้องได้ ทั้งนี้พระสังฆราชแห่งโรมและคัลวีก็ได้เน้นว่า เป็นความประสงค์ของพระสันตะปาปาด้วยที่จะให้คณะอุร์สุลินรวมกันเป็นสหภาพ

ในที่สุด วันที่ 15 พฤศจิกายน 1900 อธิการจาก 56 อารามพร้อมด้วยผู้แทนรวมแล้วมีจำนวน 71 อาราม ได้มาประชุมกันในวัดน้อยของ Villa Maria คุณพ่อ Lemius เทศน์เตือนใจด้วยสำนวนที่น่าฟัง ลึกซึ้ง เจาะลึกถึงจิตวิญญาณอันเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้นงานที่ทุกคนกำลังทำอยู่นั้นจึงเป็นภารกิจที่พระองค์ทรงปรารถนา มิฉะนั้นก็คงจะไม่สำเร็จ การที่เป็นมาได้ถึงเพียงนี้ก็มีเครื่องหมายกางเขนคือ ความลำบากประทับอยู่แล้ว ขอให้ทุก ๆ คนคิดให้ได้

รุ่งขึ้น 16 พฤศจิกายน 1900 สมัชชาใหญ่อุบัติขึ้นโดยพระคาร์ดินัลสโตลีประกอบพิธีมิสซา จากนั้นบรรดาอธิการและผู้แทนก็เดินเป็นคู่ ๆ ไปยังห้องสมัชชาใหญ่ พระคาร์ดินัลได้อธิบายเรื่องสหภาพและได้แจกยกร่างธรรมนูญ ซึ่งพระสันตะปาปาก็ได้อนุมัติแล้วให้ทุกคนได้อ่านและรำพึง ภาวนาในสายพระเนตรพระเจ้า ในที่สุดวันที่ 28 พฤศจิกายน 1900 พระสังฆราช Battandier ก็ได้มาในที่ประชุม และแจ้งให้ทราบว่า พระสันตะปาปาได้รับรองสหภาพเป็นทางการ (Canonical union) ประกอบด้วยอาราม 63 แห่งที่ขอเข้ารวมในสหภาพ
วันที่ 17 กรกฎาคม 1903 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้ทรงเซ็นพระโองการ (decree) Anno 1899 decurrente รับรองว่า การที่ได้รับรองสหภาพด้วยคำพูดมาแล้วนั้น บัดนี้ได้ให้รับรองเป็นลายลักษณ์อักษร และมติ (Acts) ต่าง ๆ ที่คุณแม่มหาธิการและที่ปรึกษาได้ออกให้ไปแล้วนั้นมีคุณค่าครบถ้วน

สหภาพโรมันประกอบด้วยภาค 26 ภาค มีสมาชิกประมาณ 2,100 คน ใน 32 ประเทศของโลก ซึ่งมีภาคของประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยนอกจากนี้ยังมีนักบวชอุร์สุลินอีกหลายพันคนในกลุ่มอื่นๆที่ยอมรับว่านักบุญอัญจลาเป็นผู้สถาปนาคณะของเขา

เรียบเรียงจาก
หนังสือคณะอุร์สุลิน แห่งสหภาพโรมัน ปี ค.ศ. 1985
หนังสือที่ระลึก 7 รอบ 84 ปี มาแมร์ทีโอดอร์ ฮาเนนเฟลด์ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2006

thThai