ประวัติคณะอุร์สุลินในประเทศไทย
ในปี ค.ศ. 1923 พระสังฆราชแปร์รอส ประมุขสังฆมณฑลสยาม ได้มีหนังสือถึงพระสังฆราชแฟรรี่ สมณมนตรีกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อศรัทธา แสดงความประสงค์จะได้คณะซิสเตอร์มาเป็นกำลังเสริมเผยแพร่ศาสนา

พระสังฆราชแปร์รอส
พระสังฆราชแฟรรี่ ซึ่งเพิ่งขอซิสเตอร์อุร์สุลิน 3 คนจากแคนาดา ไปวางรากฐานที่ซัวเถา ประเทศจีน จึงส่งจดหมายนั้นต่อไปให้คุณแม่อธิการิณีวินิฟริด และจดหมายดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังคุณแม่อธิการิณีมารี ดู โรแซร์ ที่ซัวเถา คุณแม่ดู โรแซร์อ่านจดหมายของพระสังฆราชแฟรรี่อย่างละเอียด และได้เริ่มติดต่อกับพระสังฆราชแปร์รอสโดยตรง
พระสังฆราชแปร์รอส เสนอให้คณะอุร์สุลินเริ่มงานที่โรงเรียนของสังฆมณฑล ซึ่งมีการสอนด้วยภาษาจีนและไทยไปก่อน โดยจะ มีครูไทยช่วยสอนเด็กนักเรียนระหว่างที่ซิสเตอร์ต้องเรียนภาษาไทย และแจ้งว่าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จากนั้นคุณแม่ดู โรแซร์ และพระสังฆราชได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะใหญ่อุร์สุลินที่กรุงโรม ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบตกลงในทันที คุณแม่จึงมีจดหมายไปอีก พร้อมเสนอชื่อซิสเตอร์มารี แบร์นาร์ด มังแซล ชาวฝรั่งเศส ซึ่งขณะนั้นประจำอยู่ที่ชวา เป็นผู้รับผิดชอบคณะที่จะไปสยาม เนื่องจากเป็นผู้ที่เคยติดต่อและพอทราบอัธยาศัยกันอยู่บ้าง
หลายเดือนผ่านไป ในที่สุด คุณแม่ดู โรแซร์ ก็ได้รับข่าวจากเจ้าคณะใหญ่อุร์สุลิน ที่กรุงโรม ตอบรับคำขอ พร้อมกับเตรียมส่งธรรมทูตมา 4 คน โดยคัดจากอาสาสมัครซึ่งเดิมจะไปเมืองจีน 4 คน จาก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และยูโกสลาเวีย ได้แก่ ซิสเตอร์มารี เทแรส แมร์แตนส์ หัวหน้าคณะ ซิสเตอร์มารี ซาเวียร์ เปียร์ซ ซิสเตอร์มารี ราฟาแอล วูร์นิค และซิสเตอร์มารี อักแนส เดอลัต

ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินทั้ง 4 ท่านที่เดินทางมายังประเทศไทย
ทั้ง 4 ท่านออกเดินทางจากเมืองท่ามาร์เซย ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1924 โดยไม่รู้เลยว่าสยามอยู่ที่ไหน อากาศ ผู้คน ภาษาเป็นอย่างไร หรือกำลังมีสิ่งใดรออยู่ข้างหน้า จนกระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ท่านทั้ง 4 ได้เดินทางมาถึงประเทศสยาม พักอาศัยอยู่ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และเริ่มงานที่โรงเรียนกุหลาบวัฒนา วัดกาลหว่าร์ ใกล้กับตลาดน้อย ต้องดูแลเด็กกำพร้า ทำงานวัด และรับผิดชอบในโรงเรียน ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนภาษาไทย ปรับตัวเข้ากับอากาศ และยังเจ็บป่วยจากโรคเขตร้อน ช่วงเวลาอันยากยิ่งนี้ยาวนานถึง 2 ปี โดยขาดการสนับสนุนเหลียวแลทั้งจากกรุงเทพฯ และทางโรม
 |
 |
โรงเรียนกุหลาบวัฒนา
|
วัดกาลหว่าร์
|
|
ซิสเตอร์กับบรรดาเด็กๆ
|
|
เด็กๆกับซิสเตอร์คณะอุร์สุลิน
|
|
ซิสเตอร์กับเด็กกำพร้า ครอบครัวชาวจีน ในย่านนั้น
|
ปีค.ศ. 1926 มีการประชุมใหญ่คณะอุร์สุลินทั่วโลกที่กรุงโรม พร้อมเลือกตั้งมหาอธิการิณี ผู้ได้รับเลือก คือ คุณ มารี เดอ แซงต์ ฌอง มาร์แตง ซึ่งท่านได้ตั้งซิสเตอร์มารี แบร์นาร์ด มังแซล จากชวา ให้มาเป็นอธิการิณีที่สยาม
คุณแม่แบร์นาร์ด มังแซล ทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ถูกทิ้งไว้จนหนักหน่วงเป็นเวลานาน นับแต่ฟื้นฟูความสัมพันธ์ เดินทางไปพบทุกคนที่ท่านคิดว่าจะช่วยเหลือได้ ตัดสินใจกู้เงินซื้อที่ดินตามคำแนะนำของพระสังฆราชแปร์รอส เพื่อเตรียมสร้างโรงเรียนสำหรับกุลสตรีและโรงเรียนประจำ ฯลฯ
ไม่ถึงหนึ่งปี คุณแม่แบร์นาร์ดก็ได้รับคำอนุมัติจากโรม ให้สร้างโรงเรียนอุทิศถวาย พระแม่มารี ในชื่อ มาแตร์ เดอี ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดดำเนินกิจการในปี ค.ศ. 1928 โดยคุณแม่มารี แบร์นาร์ด มังแซล เป็นอธิการิณีท่านแรก โรงเรียนเรยีนา เชลี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี ค.ศ. 1932 และโรงเรียนวาสุเทวี ค.ศ. 1955 ตามลำดับ
โรงเรียนมาแตร์เดอี ในยุคแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน
 |
 |
อาคารเรียนของเรยีนาตั้งแต่แรกเริ่ม
|
เรือนหลังแรกของเรยีนาเชลี
|
 |
.jpg) |
โรงเรียนวาสุเทวี
|
นอกจากนี้คณะอุร์สุลินยังดำเนินกิจการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการให้การศึกษาและการช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้า โดยกิจการล่าสุดที่ซิสเตอร์คณะอุร์สุลินได้ดำเนินงานคือการเปิดบ้านคณะอุร์สุลินที่ประเทศกัมพูชาเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 2010
 |
 |
ภาพบรรยากาศงานเปิดบ้านคณะที่กัมพูชาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553
|
ด้วยกิจการที่ดำเนินรอยตามจิตตารมณ์คณะได้เจริญขึ้นผ่านทางการบริหารจัดการ ดูแลให้ความรู้นักเรียนในโรงเรียนที่คณะอุร์สุลินดูแล คณะอุร์สุลินในประเทศไทยจึงมีสมาชิกคณะเพิ่มมากขึ้น และมีบ้านศูนย์กลางคณะตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนมาแตร์ เดอี ทั้งยังคงดำเนินงานต่างๆตามจิตตารมณ์ของคณะอย่างแน่วแน่และต่อเนื่อง
เรียบเรียงจาก
หนังสือคณะอุร์สุลิน แห่งสหภาพโรมัน ปี ค.ศ. 1985 หนังสือที่ระลึก 7 รอบ 84 ปี มาแมร์ทีโอดอร์ ฮาเนนเฟลด์ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2006 หนังสือนักบวชหญิงและชายในประเทศไทย อ้างถึงใน http://haab.catholic.or.th/priest/priestsister/osu.html
|