ชีวประวัติ ของนักบุญอัญจลา เมริชี
(โดยย่อ)

อัญจลา เมริชี ถือกำเนิดในบ้านที่ตั้งอยู่ติดกับปราสาทในเมืองเดเซ็นซาโน เดล การ์ดา (Desenzano del Garda) ประมาณปี ค.ศ. 1474 บิดาของเธอมีชื่อว่า จีโอวันนี มีเชื้อสายตอนปลายๆ ของขุนนางเบรสเชียนในลำดับท้ายๆ ส่วนมารดาชื่อ คาเทรินา เด เบียงชี มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองซาโล (Salo)ต่อมาครอบครัวอพยพไปอยู่ที่ชานเมือง เล เกรซเซ (Le Grezze) ลูกๆซึ่งประกอบไปด้วยเด็กชาย 3 คน และเด็กหญิง 2 คน เจริญเติบโตขึ้นอย่างอิสรเสรีที่นี่ ทั้งการเล่นสนุกซุกซน กับการทำงานเกษตรกรรมประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย ความสนุกคะนองผสมผสานกับความดื้อรั้นของเด็กๆ เป็นผลให้ไร่นาของเพื่อนบ้านเสียหายอยู่เนืองๆ จนทำให้ต้องเสียค่าปรับแก่เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นหลายครั้ง

และเมื่อพี่สาวของเธอเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน อัญจลาถึงกับเป็นกังวล กลัวว่าดวงวิญญาณของพี่สาวเธอจะไม่ได้เข้าสู่สวรรค์นิรันดร แต่เธอก็ได้เห็นภาพนิมิตว่า พี่สาวได้ไปจุติในสรวงสวรรค์แล้ว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน บิดาและมารดาของเธอก็เสียชีวิตลงไปอีก เธอกับน้องชายจึงต้องอพยพไปอยู่กับลุงชื่อ เบียงโคโซ เด เบียงชี ที่เมืองซาโลที่นั่นชีวิตของเธอดีขึ้น แต่เธอไม่ได้หลงระเริงไปกับความสะดวกสบายนั้น แต่กลับสมัครเข้าเป็นสมาชิกชั้นที่สามของคณะฟรังซิสกัน เพื่อจะได้ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ได้รับศีลอภัยบาป และศีลมหาสนิทบ่อยขึ้น อีกทั้งมีข้ออ้างที่เป็นเหตุเป็นผลอย่างดีในการดำรงชีวิตสมถะ เคร่งครัด และปฏิบัติกิจใช้โทษบาปต่างๆ ด้วย จากนั้นเป็นต้นมา เธอก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามคุณแม่อัญจลา

อีก 2 – 3 ปี ต่อมา เธอเดินทางกลับไปยังเมืองเดเซ็นซาโน แล้วเริ่มดำเนินชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัด ทั้งงานที่โบสถ์ บ้าน ไร่น่า และงานการกุศลอื่นๆ เที่ยงวันหนึ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เธอเห็นภาพนิมิตเป็นบันไดเชื่อมโยงสวรรค์กับพื้นโลก ญาณหยั่งรู้ลึกซึ้งที่เป็นเครื่องหมายแห่งกลุ่มสตรีพรหมจารี ซึ่งเธอจะต้องจัดตั้งขึ้นสักวันหนึ่งในพระศาสนจักร

ปี ค.ศ. 1516 อธิการคณะฟรังซิสกัน ส่งเธอไปยังเมืองเบรสเชีย เพื่อทำหน้าที่ปลอบโยน และให้คำปรึกษาแก่คุณหญิงคาเทรีนา ปาเท็นโกลา ซึ่งเพิ่งจะสูญเสียสามี กับบุตรชาย 2 คน อันเป็นที่รักไป นี่คือจุดเริ่มต้นภารกิจของอัญจลาที่ค่อยๆแผ่ขยายโอบรับทุกคนที่เข้ามาพึ่งพาอาศัย ขอความช่วยเหลือ ขอคำภาวนาขอให้ช่วยเป็นตัวกลางในการประสาน หรือขอให้ช่วยก่อให้เกิดสันติสุขแท้จริง

เมื่อคุณหญิงมีอาการดีขึ้นโดยลำดับ จนเริ่มดำเนินชีวิตตามภาวะปกติได้แล้ว อัญจลาก็เดินทางไปพำนักอยู่กับพ่อค้าหนุ่มชื่อ อันโตนีโอ โรมาโน ซึ่งเล่าว่าเธอไปมันตัว (Mantua) เพื่อภาวนาที่สุสานบุญราศี โอซานนา แล้วเดินทางต่อไปที่ซาโคร มอนเต (Sacro Monte) ในวารัลโล (Varallo) และต่อมาในปี ค.ศ. 1524 เดินทางไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ซึ่งรวมแล้วเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนที่เธอต้องเสี่ยงกับภยันตรายหลากหลายรูปแบบ ทั้งโจร โจรสลัด และพายุ ในปี ค.ศ. 1525 เธอเดินทางไปกรุงโรม เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองในวาระแห่งการครบรอบทุกๆ 25 ปี ของพระศาสนจักร (Jubilee

ในปี ค.ศ. 1529 มีกองกำลังทหารรุกราน ทำให้มีผู้อพยพหนีภัยสงครามจำนวนมาก เธอไปลี้ภัยอยู่กับครอบครัวอากอสติโน กัลโล วิศวกรการเกษตรชาวเบรสเชีย นอกจากนั้น เธอยังร่วมมือกับครอบครัวของเขา และบุคคลอื่นๆ อีกหลายคน ช่วยเหลือ และให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพเหล่านั้นที่เครโมนา (Cremona) ที่นั่นเธอได้พบกับข้าราชสำนักพลัดถิ่นชื่อ ฟรังเชสโก สฟอร์ซา ดยุคแห่งมิลานซึ่งเคยต้องการทำความรู้จักคุ้นเคยกับ อัญจลาขณะที่พำนักอยู่ในเบรสเชีย และได้ขอให้เธอช่วยสวดภาวนาให้เขาด้วยในช่วงนั้น เมื่อเธอเดินทางกลับเบรสเชียอีกครั้งหนึ่ง เธอก็ได้ทำงานอุทิศถวายแด่พระผู้เป็นเจ้า นับแต่นั้นเป็นต้นมา

สุภาพสตรีในยุคนั้นไม่มีเสรีภาพในการเลือกสิ่งใดก็ตามที่เธอต้องการ เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของตนเอง ครอบครัวเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทน ทั้งในการแต่งงาน (เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอยากจน) หรือการบวชเข้าเขตพรตของอาราม (เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอร่ำรวย) อัญจลาได้รับแรงบันดาลใจจากพระจิตเจ้า ประกอบกับความเชื่อมั่นในศักยภาพของสตรี จึงได้ก่อตั้งอีกสถานภาพหนึ่งของชีวิต ซึ่งต่อมาได้รับการรับรองถูกต้องตามบัญญัติพระศาสนจักร นั่นคือสุภาพสตรีผู้ถือครองพรหมจรรย์ ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกด้วยสถานะคนสนิทติดตามร่วมชีวิตกับบุตรพระเจ้า และได้รับการเชิญชวนให้เป็นมารดาด้วยจิตวิญญาณ ความเป็นจริงในการเลือกทางเดินชีวิตของตนเองอย่างเสรีนี้ เป็นก้าวย่างอันยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของสตรีเพศ ถึงแม้จะไม่มีกิจกรรมทั่วๆ ไปมายึดเหนี่ยวบรรดาสมาชิกในกลุ่มไว้ พวกเธอก็ไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะสุภาพสตรีเหล่านี้เป็นสมาชิกของครอบครัวที่ผูกพันกันทางจิตวิญญาณอย่างแท้จริง โดยมีพระวินัยสนับสนุน ค้ำจุน และอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของนักบุญอุร์สุลา-พรหมจารีมรณสักขี กลุ่มสตรีแห่งนักบุญอุร์สุลา(company of St.Ursula) ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1535

อัญจลาถึงแก่กรรมในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1540 ณ เมืองเบรสเชีย ร่างของเธอสงบนิ่งอยู่ในสถานที่อันพึงเคารพที่ผู้คนสร้างอุทิศให้แด่เธอ

หลังการมรณกรรมไม่นานนัก บรรดาสุภาพสตรีผู้ศรัทธาในตัวเธอต่างก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนหลักความเชื่อคริสต์ และต่อมาได้สอนวิชาการอ่าน และการเขียนด้วย ในประเทศอิตาลี พระสังฆราช หลายองค์ได้จัดตั้งกลุ่มสตรีแห่งนักบุญอูร์สุลาขึ้นหลายแห่ง แต่ในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มสตรีเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นกลุ่มคณะนักบวช (religious communities) แทน ต่อมาได้เผยแผ่ออกไปทั่วทุกทวีป เพื่อให้การศึกษาแก่ยุวสตรีทั้งในโรงเรียนประจำ และไปกลับ ในศตวรรษต่อๆ มา คณะนักบวชอุร์สุลินกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นหลายแห่ง บุคคลเหล่านี้ต่างก็รับอัญจลาเป็นมารดาของเธอ

อัญจลา เมริชี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1807 ในปัจจุบันเป็นที่รู้จัก และเคารพศรัทธาไปทั่วโลก ทั้งนี้ต้องขอบคุณกลุ่มสตรีแห่งนักบุญอูร์สุลาที่แผ่ขยายไปในรูปแบบของกลุ่ม ผู้อุทิศถวายตัวแบบฆราวาส และขอขอบคุณการพัฒนาสถาบันอันหลากหลายของคณะนักบวชอุร์สุลิน

แม้ว่านักบุญองค์นี้ค่อนข้างจะมีลักษณะไปในแนวทางฟรังซิสกันชั้นที่สามของยุคกลาง แต่ท่านก็ผูกใจสุภาพสตรีทุกวัยในศตวรรษที่ 21 เป็นพิเศษ ท่านเพาะพันธุ์กล้าไม้แห่งคริสตจักร จากเมล็ดพืชเล็กๆ ซึ่งต่อมาก็ได้เติบใหญ่ และแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย คณะธิดาอัญจลา (daughters of St.Angela) มีอยู่ทั่วโลก ผู้อุทิศถวายตัวแบบฆราวาสอุร์สุลิน (SecularUrsuline) และนักบวชอุร์สุลิน (Ursuline religious) เป็นกลุ่มพี่น้องที่ต่างก็พร้อมใจกันมอบความรัก และความศรัทธาแด่มารดาเดียว คือ อัญจลา เมริชี

ขอให้พระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
ได้รับการสรรเสริญสดุดี
มากกว่าเม็ดทรายแห่งท้องทะเล
มากกว่าหยาดหยดแห่งฝนจากฟากฟ้า
มากกว่าหมู่ดาวพราวพร่างพันหมื่นแสนล้านดวง
(อัญจลา เมริชี)

thThai